คดีสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขาย สัญญาว่าจ้าง

ข้อควรรู้ รายละเอียดเบื้องต้น (เวลาอ่าน 5 นาที)

สัญญากู้ยืม

คดีสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขาย สัญญาว่าจ้าง

สัญญากู้ยืมคืออะไร?

มีคู่กรณีสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้กู้” ตกลง กู้ยืมเงินจากอีกฝ่ายเรียกว่า “ผู้ให้กู้” โดยโอนกรรมสิทธิ์ในเงินนั้นให้แก่ผู้กู้ และผู้กู้ตกลง จะชดใช้เงินที่มีมูลค่าเท่าเทียมกันให้แก่ผู้ให้กู้ 

สำหรับการตอบแทนการให้กู้ยืมเงินหรือเรียกว่า “ดอกเบี้ย” นั้น ไม่ใช่สาระสำคัญของการกู้ยืมเงิน ผู้กู้และผู้ให้กู้อาจตกลงกันคิดดอกเบี้ย หรือไม่ก็ได้ แต่หากมีการคิดดอกเบี้ยต่อกันต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืม ห้ามเกิน 15% ต่อปี หากเจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่า 15% ต่อปี ให้ถือว่าดอกเบี้ยนั้นตกเป็นโมฆะ

ชำระหนี้เป็นอย่างอื่นนอกจากเงินได้หรือไม่?

สัญญากู้ยืมเงินเป็นการโอนไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในเงินที่กู้ยืม ผู้กู้ไม่จำต้องคืนเงินเป็นเงินส่วนที่ยืมไป แต่เอาเงินจากที่ใดมาคืนก็ได้ ขอให้เป็นเงินที่มีจำนวนเท่ากับเงินที่ยืม ก็ใช้ได้ อย่างไรก็ดี เงินที่กู้ยืมอาจเปลี่ยนเป็นสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ หากการกู้ยืม เงินนั้น ๆ ผู้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นไว้แทนจากผู้ให้กู้ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 บัญญัติว่า

 “ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของ หรือทรัพย์สินอย่างอื่น แทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงิน ค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาด แห่งสิ่งของ หรือทรัพย์สิน นั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือ ทรัพย์สินอย่างอื่น เป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไป เพราะการชำระเช่นนั้นท่านให้คิดเป็น จำนวนเท่ากับราคาท้องตลาด แห่งสิ่งของ หรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ท่านว่าเป็นโมฆะ”

หลักฐานการกู้ยืม 

  • กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืม ไม่เกิน 2,000 บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน แม้ตกลงยืมเงินกันด้วยวาจา เมื่อเกิดการผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย
  • กรณีกู้ยืมเงิน มากกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ต้องทำสัญญาการกู้ยืมและต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้อยู่ในสัญญา หากไม่มีหลักฐานหรือสัญญา จะไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ แม้ว่าหนี้นั้นจะชอบด้วยกฎหมายก็ตาม

รายละเอียดเอกสารสัญญากู้

สัญญากู้ยืมเงินหรือหลักฐานการกู้ยืมจะอยู่ในรูปของหนังสือ จดหมาย หรือเอกสารใดๆ ที่เขียนขึ้นเอง หรือจะอยู่ในรูปของแบบฟอร์มทางการก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบในสัญญา ดังนี้

  1. วันที่ทำสัญญากู้
  2. ชื่อผู้กู้, ชื่อผู้ให้กู้
  3. จำนวนเงินที่กู้
  4. กำหนดการชำระเงินคืน
  5. ดอกเบี้ยต่อเดือน/ต่อปี (ถ้ามี)
  6. ลายมือชื่อผู้กู้
  7. ลายมือชื่อผู้ให้กู้ (มีหรือไม่มีก็ได้)

อาจเพิ่มรายละเอียดยิบย่อยลงไป เช่น สถานที่ทำสัญญา ผลของการผิดสัญญา และพยานในการทำสัญญา ส่วนใครที่จะทำการกู้เงินจากธนาคาร รายละเอียดของสัญญาการกู้ยืม รวมไปถึงเงื่อนไขการให้กู้ต่างๆ ก็จะขึ้นอยู่กับธนาคารนั้นๆ

สัญญาซื้อขาย

คดีสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขาย สัญญาว่าจ้าง

สัญญาซื้อขายคืออะไร?

คือสัญญาที่ “ผู้ขาย” โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ “ผู้ซื้อ” และตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

การโอนกรรมสิทธิ์ คือ การโอนความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน ที่ซื้อขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อเป็นเจ้าของแล้ว ก็จะสามารถได้รับประโยชน์หรือจะนำไปขายต่อไปอย่างไรก็ได้

สำหรับราคาของทรัพย์สินจะชำระเมื่อไหร่ จะขึ้นอยู่กับผู้ซื้อผู้ขายตกลงกัน ถ้าตกลงชำระทันทีก็เป็นการซื้อขายเงินสด หรือถ้าตกลงจะผ่อนชำระให้เป็นครั้งคราวก็เป็นการซื้อขายเงินผ่อน ซึ่งได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน

หลักเกณฑ์การทำสัญญาซื้อขาย

  1. ตัวบุคคล : ผู้ซื้อและผู้ขายทั้งสองคนต้องมี ติปัญญาพอสมควรที่จะตัดสินใจทำสัญญากันได้เอง มุมมองของกฎหมายนั่นก็คือต้อง บรรลุนิติภาวะ โดยปกติก็คือมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์
  2. ความต้องการ : ผู้ซื้อต้องมีความต้องการที่จะซื้อ ผู้ขายก็ต้องมีความต้องการที่จะขายทรัพย์สินนั้นจริงๆ โดยทั้งสองฝ่ายต้องแสดงความต้องการของตนให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ด้วย
  3. เป้าหมาย : ผู้ซื้อมีเป้าหมายที่จะได้กรรมสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของในทรัพย์สินนั้น ผู้ขายก็มีเป้าหมายที่จะได้เงินจากทรัพย์สินนั้น สำคัญที่เป้าหมายของทั้งสองฝ่ายต้องไม่มีกฎหมายห้าม ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเป็นเป้าหมายที่เกิดขึ้นได้จริงๆด้วย
  4. โอนกรรมสิทธิ์ : ผู้ขายต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้ซื้อ การโอนกรรมสิทธิ์นั้นอาจเกิดขึ้นแม้ว่าผู้ซื้อจะยังไม่ได้รับมอบทรัพย์หรือมีไว้ครอบครอง
  5. ชำระราคาทรัพย์สิน : ผู้ซื้อต้องตกลงว่าจะชำระราคาทรัพย์สินให้กับผู้ขาย หรืออาจเป็นกรณีที่แค่ตกลงไว้ก็เพียงพอแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องมีการชำระกันจริงๆก็ได้ 

วิธีการทำสัญญาซื้อขาย 

  • กรณีซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้นไม่มีแบบเฉพาะ การแสดงความจำนงว่าต้องการซื้อขายทรัพย์สินอาจทำได้โดยปากเปล่าก็ได้ หรือจะเป็นลายลักษณ์อักษร หรือโดยวิธีการใดก็ได้ เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้วกรรมสิทธิ์โอนทันทีและก่อให้เกิด “หนี้” ทั้งสองฝ่ายที่ต้องชำระให้กัน
  • แต่กรณีซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษนั้นมีแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ แบบที่กฎหมายบังคับให้ทำแม้จะตกลงว่าจะซื้อจะขายก็ตามก็คือ การทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
  • “อสังหาริมทรัพย์” คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้/ที่ตรึงตราแน่นหนาถาวรกับที่ดิน ได้แก่ ที่ดิน บ้านเรือน ตึกแถว อาคารสิ่งปลูกสร้าง ไม้ยืนต้น แม่น้ำลำคลอง แร่ธาตุ กรวด ทราย รวมถึงสิทธิที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เช่น ภาระจำยอม สิทธิอาศัยสิทธิเก็บกิน สิทธิจำนอง
  • “สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ” ได้แก่ เรือกำปั่น/เรือระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป เรือกลไฟ แพอยู่อาศัยของคน สัตว์พาหนะใช้ขับขี่ลากเข็น และบรรทุก เช่น ช้าง ม้า โคกระบือ

หากไม่มั่นใจในเรื่องเอกสารหรือการโอนกรรมสิทธิ์ สามารถหาที่ปรึกษากฎหมาย หรือ จ้างทนายความ ผู้มีความเชี่ยวชาญได้

เอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์ (ผู้ซื้อ)

กรณีบุคคลธรรมดา

  1. บัตรประชาชน/Passport พร้อมรับรองสำเนา 1 ชุด
  2. ทะเบียนบ้านตัวจริง/work permit พร้อมรับรองสำเนา 1 ชุด
  3. (กรณีเปลี่ยนชื่อ) สำเนาเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล พร้อมรับรองสำเนา 1 ชุด
  4. (กรณีมอบอำนาจ) หนังสือมอบอำนาจ ทด.21
  5. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ พร้อมรับรองสำเนา 1 ชุด
  6. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาทะเบียนบ้านผู้รับมอบอำนาจ พร้อมรับรองสำเนา 1 ชุด
  7. (กรณีมีคู่สมรส) สำเนาบัตรประชาชนคู่สมรส พร้อมรับรองสำเนา 1 ชุด
  8. (กรณีมีคู่สมรส) สำเนาทะเบียนบ้านคู่สมรส พร้อมรับรองสำเนา 1 ชุด
  9. (กรณีมีคู่สมรส) เอกสารยินยอมจากคู่สมรส
  10. (กรณีหย่ากับคู่สมรส) สำเนาทะเบียนหย่า 1 ชุด
  11. (กรณีผู้ซื้อเป็นชาวต่างชาติ) เอกสารยืนยันการโอนเงินจากต่างประเทศ (FET หรือ Credit Advice)

กรณีนิติบุคคล

  1. สำเนาบัตรประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมประทับตรา 1 ชุด
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน/work permit ของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมประทับตรา 1 ชุด
  3. หนังสือรับรองนิติบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 1 เดือน
  4. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น อายุไม่เกิน 1 เดือน พร้อมรายละเอียดในบัญชีรายชื่อของนิติบุคคลที่สามารถซื้อที่ดินได้
  5. หนังสือตัวอย่างลายเซ็นกรรมการผู้มีอำนาจ
  6. รายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท ระบุวัตถุประสงค์ในการซื้อ และแหล่งที่มาของเงิน
  7. (กรณีมอบอำนาจ) หนังสือมอบอำนาจ
  8. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุด
  9. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุด

เอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์ (ผู้ขายคนไทย)

กรณีบุคคลธรรมดา

  1. โฉนดตัวจริง
  2. บัตรประชาชนของผู้ขาย พร้อมสำเนา และคู่สมรส (ถ้ามี) 1 ชุด
  3. ทะเบียนบ้านของผู้ขาย พร้อมสำเนา และคู่สมรส (ถ้ามี) 1 ชุด
  4. (กรณีคู่สมรส) สำเนาใบทะเบียนสมรส 1 ชุด
  5. (กรณีคู่สมรส) หนังสือยินยอมของคู่สมรส 1 ชุด
  6. (กรณีมอบอำนาจ) หนังสือมอบอำนาจ
  7. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุด
  8. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาทะเบียนบ้านผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุด
  9. (กรณีห้องชุด) ใบปลอดภาระหนี้จากนิติบุคคล 1 ชุด

กรณีนิติบุคคล

  1. สำเนาบัตรประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมประทับตรา 1 ชุด
  2. สำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมประทับตรา 1 ชุด
  3. หนังสือรับรองนิติบุคคลที่มีอายุไม่เกิน1 เดือน
  4. นังสือตัวอย่างลายเซ็นกรรมการผู้มีอำนาจ
  5. รายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท
  6. (กรณีมอบอำนาจ) หนังสือมอบอำนาจ
  7. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุด
  8. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุด

เอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์ (ผู้ขายคนต่างชาติ)

กรณีบุคคลธรรมดา

  1. โฉนดตัวจริง
  2. Passport พร้อมสำเนา และคู่สมรส (ถ้ามี) 1 ชุด
  3. ทะเบียนบ้านตัวจริงของผู้ขาย พร้อมสำเนา และคู่สมรส (ถ้ามี) 1 ชุด
  4. Work permit พร้อมสำเนา 1 ชุด
  5. (กรณีคู่สมรส) สำเนาใบทะเบียนสมรส 1 ชุด
  6. (กรณีคู่สมรส) หนังสือยินยอมของคู่สมรส 1 ชุด
  7. (กรณีมอบอำนาจ) หนังสือมอบอำนาจ
  8. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุด
  9. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาทะเบียนบ้านผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุด
  10. (กรณีห้องชุด) ใบปลอดภาระหนี้จากนิติบุคคล 1 ชุด
  11. (กรณีห้องชุด และผู้ซื้อเป็นชาวต่างชาติ) เอกสารแสดงสัดส่วนพื้นที่ในโครงการที่ชาวต่างชาติครอบครองกรรมสิทธิ์ได้ (Foreigner Quota)

กรณีนิติบุคคล

  1. สำเนา Passport ผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมประทับตรา 1 ชุด
  2. สำเนา Work permit ของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมประทับตรา 1 ชุด
  3. หนังสือรับรองนิติบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 1 เดือน
  4. นังสือตัวอย่างลายเซ็นกรรมการผู้มีอำนาจ
  5. รายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท
  6. (กรณีมอบอำนาจ) หนังสือมอบอำนาจ
  7. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุด
  8. (กรณีมอบอำนาจ) สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุด
คดีสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขาย สัญญาว่าจ้าง

สัญญาว่าจ้าง

คดีสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขาย สัญญาว่าจ้าง

สัญญาว่าจ้างคืออะไร?

คือข้อตกลงในด้านแรงงานระหว่าง “ผู้ใช้แรงงาน” กับ “ผู้ว่าจ้าง” องค์กร หรือหน่วยงานผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีการกำหนดความรับผิดชอบ สิทธิและหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายไว้อย่างชัดเจน

ผู้ใช้แรงงานจะรับภาระหน้าที่ความรับผิดและทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งเคารพระเบียบ ส่วนผู้ว่าจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ใช้แรงงานตามปริมาณและคุณภาพของงานที่ผู้ใช้แรงงานได้ทำไป อีกทั้งต้องประกันสิทธิและประโยชน์ด้านต่างๆ แก่พนักงานของหน่วยงานนั้นๆ ตามกฎหมายแรงงานกำหนด หรือตามที่ตกลงไว้ระหว่างสองฝ่าย

รายละเอียดสัญญาว่าจ้าง

  1. ระยะเวลาสัญญา : มี 3 ประเภทคือ กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน และถือเอาเวลาที่งานสำเร็จเป็นจุดสิ้นสุด หากเป็นสัญญาที่กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ควรจะมีกำหนดเวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป
  2. เนื้อหาของงาน : ผู้ว่าจ้างต้องกำหนดให้ผู้ใช้แรงงานทำงานอะไร เป็นเนื้อหาสำคัญที่ผู้ใช้แรงงานยอมรับว่าเป็นหน้าที่ที่ควรปฏิบัติ เช่น ระบุตำแหน่งงาน ลักษณะงาน ขอบข่ายของงาน รวมถึงภาระหน้าที่ในการผลิตงานให้บรรลุเป้าหมายด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ
  3. คุ้มครองแรงงาน : ผู้ว่าจ้างจะต้องมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้ใช้แรงงาน
  4. ค่าตอบแทน : ผู้ว่าจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้ใช้แรงงานในรูปของเงิน ตามตำแหน่งหน้าที่ ความสามารถ โดยค่าตอบแทนจะต้องระบุ จำนวนเงิน วันและสถานที่จ่ายค่าตอบแทน และค่าตอบแทนนั้นต้องไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้
  5. ระเบียบการทำงาน : กฎข้อบังคับที่ผู้ใช้แรงงานต้องเคารพปฏิบัติเมื่ออยู่ในระหว่างการทำงาน กฎที่ตั้งขึ้นในหน่วยงานนั้นเป็นระเบียบที่ผู้ใช้แรงงานปฏิบัติตาม
  6. สิ้นสุดสัญญา : เงื่อนไขที่ทำให้สัญญาสิ้นสุดลงต้องระบุในสัญญา โดยเงื่อนไขนั้นอาจนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้อาจเป็นข้อตกลงการสิ้นสุดสัญญาว่าจ้างระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้ว่าจ้างก็ได้
  7. การผิดสัญญาว่าจ้าง : ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจหรือประมาทผิดสัญญา จนทำให้สัญญาว่าจ้างไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ ฝ่ายที่ผิดสัญญา ควรจะต้องรับภาระความรับผิดชอบที่เกิดจากจากการกระทำผิดสัญญาตามกฎหมายกำหนด ความรับผิดชอบนั้นต้องยุติธรรมและมีเหตุผล

ขั้นตอนการทำสัญญาว่าจ้าง

  1. คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ควรประเมินตนเองว่าตรงกับเงื่อนไขในการรับพนักงานหรือไม่
  2. การเขียนสัญญาจ้างงานจะต้องถูกต้องตามกฎหมายและนโยบายของประเทศ และต้องอิงกับสภาพความเป็นจริง
  3. เนื้อหาของสัญญาจะต้องเขียนกระชับหรือละเอียด และเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศ
  4. ภาษาที่ใช้ในสัญญาจะต้องเข้าใจง่าย เพื่อหลีกเลี่ยงคู่สัญญาเกิดความเข้าใจหรือมีความเห็นไม่ตรงกัน
  5. ควรกำหนดความรับผิดชอบของคู่สัญญาให้ชัดเจน ความรับผิดชอบไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในสัญญา แต่ยังเป็นหลักฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการตัดสินข้อพิพาทด้านแรงงานด้วย
  6. วันที่ทำสัญญาและวันที่สัญญามีผลบังคับใช้จะต้องเขียนไว้ชัดเจน
  7. หน้าที่ของผู้ใช้แรงงานที่กำหนดในสัญญาต้อง ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
  8. เมื่อทำสัญญาเสร็จแล้วควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ นักกฎหมาย หรือหาทนายที่รับร่างสัญญา เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของสัญญาและหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต

การเลิกสัญญา

  • ผู้ใช้แรงงานเสนอยกเลิกสัญญาว่าจ้าง จะต้องทำหนังสือแจ้งถึงผู้ว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 30 วัน
  • หรืออาจมีเหตุที่กฎหมายกำหนดให้สามารถบอกเลิกสัญญาเมื่อไหร่ก็ได้ เช่น ผู้ว่าจ้างบังคับให้ทำงานโดยใช้ความรุนแรง คุกคาม หรือจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลโดยผิดกฎหมาย การทำงานนั้นมีสภาพเลวร้าย บ่อนทำลายสุขภาพของพนักงานอย่างร้ายแรงโดยได้รับการยืนยันจากหน่วยงานด้านแรงงานหรือสาธารณสุข เป็นต้น
คดีสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขาย สัญญาว่าจ้าง

รายละเอียดเอกสารสัญญาว่าจ้าง

  1. วันที่ทำสัญญาว่าจ้าง
  2. ชื่อผู้ว่าจ้าง, ชื่อผู้ใช้แรงงาน/ผู้รับจ้าง
  3. ที่อยู่สถานที่ทำงาน
  4. จำนวน วันที่ และช่องทางการจ่ายค่าจ้าง
  5. หน้าที่ผู้รับจ้าง เงื่อนไขความสำเร็จของงาน/กำหนดเวลางาน
  6. เวลาการทำงาน
  7. สวัสดิการ
  8. ระยะเวลาของสัญญา
  9. การเลิกสัญญา
  10. ลายมือชื่อผู้ว่าจ้าง
  11. ลายมือชื่อผู้รับจ้าง
  12. ลายมือชื่อพยาน

สัญญาว่าจ้าง อาจเพิ่มรายละเอียดยิบย่อยลงไปได้ เช่น ความรับผิดของผู้รับจ้าง/ผู้ว่าจ้าง การจ้างช่วง เงินประกัน เป็นต้น

หากไม่มั่นใจเรื่องรายละเอียดในสัญญาจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ สามารถหาทนายความ ปรึกษาทนายความ ให้ช่วยเหลือหรือร่างสัญญาได้

แหล่งอ้างอิง

  • กองกฎหมาย(2018)คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการทำสัญญากู้ยืมเงินและตัวอย่างแบบสัญญากู้ยืมเงิน Available at:http://abt.in.th/_files_aorbortor/011514/uploads/files/20181009151525_62872.pdf (Accessed: 13 July 2023). 
  • Pongklam, W. (2020) สิ่งที่ลูกหนี้ต้องรู้! ก่อนตกลงทำ ‘สัญญากู้ยืมเงิน’. Available at: https://www.ofm.co.th/blog/สัญญากู้ยืม/ (Accessed: 13 July 2023). 
  • Super user (2017) การซื้อขาย. Available at: https://www.cpao.go.th/กฎหมายน่ารู้/72-การซื้อขาย.html (Accessed: 13 July 2023). 
  • สรุปขั้นตอนการโอนที่ดิน ณ สำนักงานที่ดิน พร้อมเอกสารการโอนที่ดิน อย่างละเอียด (no date) ความรู้เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์. Available at: https://landprothailand.com/th/how-to-transfer-property-ownership/#- (Accessed: 13 July 2023).