คดียักยอกทรัพย์ คดีลักทรัพย์นายจ้าง คดีลูกจ้างทุจริต

ข้อควรรู้ รายละเอียดเบื้องต้น (เวลาอ่าน 5 นาที)
คดียักยอกทรัพย์ คดีลักทรัพย์นายจ้าง คดีลูกจ้างทุจริต

คดียักยอกทรัพย์

  เป็นความผิดอาญาที่เกี่ยวกับทรัพย์คือการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนทั้งที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในของสิ่งนั้นหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของเราแต่มีคนอื่นถือกรรมสิทธิ์ร่วมแต่เบียดบังทรัพย์นั้นมาเป็นของตนโดยทุจริต เช่น แม่ค้าถอนเงินผิดแต่เราไม่ยอมคืนทั้งที่รู้อยู่แล้วแต่ทั้งนี้คดียักยอกทรัพย์เป็นคดีคอันยอมความกันได้ 

มาตราที่เกี่ยวข้อง

          มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                    ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

         มาตรา 353  ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

          มาตรา 354  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 355  ผู้ใดเก็บได้ซึ่งสังหาริมทรัพย์อันมีค่า อันซ่อนหรือฝังไว้โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           มาตรา 356 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560
      ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6811/2559
      ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพียงแต่โจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นเท่านั้น ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 จะต้องได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ถูกผู้อื่นยักยอกทรัพย์ได้และสิทธิดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 352 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง จึงไม่อาจถูกยักยอกได้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์เองโจทก์มิเคยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการโดยพลการ เงินที่ได้มาจึงมิใช่เงินที่จำเลยที่ 5 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์มีแต่สิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14802/2558
     โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์ได้ให้เช่าซื้อทองรูปพรรณแก่จำเลยแล้ว กรรมสิทธิ์ในทองรูปพรรณดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ ส่วนจำเลยคงมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์เท่านั้น การที่จำเลยนำทองรูปพรรณไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต ถือได้ว่าจำเลยเบียดบังทองรูปพรรณของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตแล้ว แม้ จ. เบิกความว่า จำเลยตกลงจะเอาทองรูปพรรณของโจทก์มาคืนหรือจะนำเงินมาชดใช้ค่าเสียหายก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากความผิดยักยอกได้เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการบรรเทาผลร้ายให้ได้รับการลงโทษทางอาญาน้อยลงเท่านั้น หาใช่เป็นการตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแล้วผิดสัญญากันไม่ ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา แต่โต้เถียงว่าการที่จำเลยนำทองรูปพรรณที่เช่าซื้อจากโจทก์ไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว มิใช่เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13089 – 13090/2558

     ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 นั้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้ แต่หุ้นตามฟ้องเป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่หรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมทั้งสองที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะเบียดบังยักยอกได้ ทั้งปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเพียงการยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนเท่านั้น ยังหามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

คดียักยอกทรัพย์ คดีลักทรัพย์นายจ้าง คดีลูกจ้างทุจริต

คดีลักทรัพย์นายจ้าง

     ลักทรัพย์ คือ การเอาของผู้อื่นไปโดยทุจริตโดยที่มีเจตนาจะครอบครองทรัพย์นั้นไว้ ซึ่งทรัพย์นั้นไม่ใช่ของตนเอง ผู้นั้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท แต่การลักทรัพย์นายจ้างนั้นซึ่งเป็นเหตุฉกรรจ์ที่ต้องได้รับโทษที่หนักขึ้น  

     มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดย ทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหก หมื่นบาท

      มาตรา 335  ผู้ใดลักทรัพย์

    (1) ในเวลากลางคืน

    (2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ

    (3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ

    (4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้

    (5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้

    (6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน

    (7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

    (8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้นๆ

    (9) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถ หรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ

    (10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์

    (11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

    (12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น

    ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

            ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไปผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

            ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

            ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2557

         จำเลยมิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้จำเลยร่วมกับ น. ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายลักทรัพย์ของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของ น. จึงไม่มีผลไปถึงจำเลยด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2387/2564

         จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหาย มีหน้าที่ขายรถยนต์ให้ลูกค้าของผู้เสียหายและเก็บเงินจากลูกค้าไม่ว่าจะเป็นเงินค่าจองรถ ด่าดาวน์รถกับ คำใช้จ่ายอื่น ๆ เกี๊ยวกับการซื้อขายรถซึ่งได้รับจากลูกค้าที่ซื้อรถจากผู้เสียหาย เงินจำนวนต่าง ๆ ที่จำเลยรับไว้จากลูกค้า เป็นการรับ เงินไว้ในระหว่างปฏิบัติหน้าทีในฐานะลูกจ้างผู้เสียหาย ซึ่งมีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าผู้มาซื้อรถ จำาเลยเพียงแต่รับเงินและยึดถือไว้ชั่วคราวก่อนจะนำส่งมอบให้ผู้เสียหายเท่านั้น ฮนาจในการครอบครองควบคุมดูแลเงินดังกล่าวจึงเป็นของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยรับ เงินจากลูกค้าของผู้เสียหายร่วม 7 ครั้งแล้วเอาเงินดังกล่าวไปโดยทุจริต การกระทาของสาเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ทีเป็นของนายจ้างตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก

คดีนี้ไม่เข้ายักยอกทรัพย์เพราะ : เซลล์มีหน้าทีขาย ไม่ได้มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้า เงินที่ลูกค้าจ่ายมาจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัททันที จึงไม่เป็นการที่เซลล์ครอบครองเงินแทนบริษัท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2502

         จำเลยเก็บกระเป๋าสตางค์ของเจ้าของทรัพย์ซึ่งเหน็บไว้ที่เอวแล้วเลื่อนหลุดไปในขณะที่นั่งดูภาพยนตร์ใกล้เคียงกัน ถือว่าทรัพย์ นั้นยังอยู่ในความยึดถือของเจ้าของทรัพย์ ไม่ใช่อยู่ในสภาพของตกหายจำเลยจึง มีความผิดฐานลักทรัพย์

คดีลูกจ้างทุจริต

          บทบัญญัติเรื่องข้อยกเว้นที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 นี้ เป็นบทบัญญัติที่มีความสำคัญมากที่สุด เมื่อพิจารณามาตรา 118 แล้วจะเห็นได้ว่า โดยหลักการเมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง 

          ทั้งนี้ นอกเหนือจากกรณีที่ลูกจ้างลาออกเองแล้วนั้น ก็มีข้อยกเว้นที่กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 119  ดังนี้

          (1)  ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

          (2)  จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

          (3)  ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

          (4)  ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือนหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

          (5)  ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

          (6)  ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

          ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

          การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามที่กล่าวข้างต้น ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

              เหตุที่นายจ้างจะอ้างมาตรานี้ ได้มีบทบัญญัติกำหนดไว้ชัดแจ้งในมาตรา 17 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า “ ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตาม มาตรา 119  ขึ้นอ้าง ภายหลังไม่ได้ ”

           เมื่อบทบัญญัติในมาตรา 17 วรรคสามกำหนดไว้เช่นนี้ก็เท่ากับว่ากำหนดว่าเหตุที่นายจ้างจะยกขึ้น เพื่ออ้างในกรณีที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 119 จะต้องเป็นเหตุที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างเท่านั้น  ดังนั้น  ถ้านายจ้างเลิกจ้างด้วยวาจาหรือโดยปริยาย ด้วยการแสดงออกต่างๆ เช่น สั่งยามรักษาการณ์ไม่ให้ลูกจ้างเข้ามาทำงานในโรงงาน  นายจ้างก็น่าที่จะยกข้ออ้างตามมาตรา 119 ขึ้นต่อสู้เมื่อลูกจ้างไปฟ้องเรียกค่าชดเชยที่ศาลแรงงานมิได้

           อย่างไรก็ตาม ศาลฏีกาได้วินิจฉัยในเชิงให้โอกาสแก่นายจ้างที่มิได้บอกเลิกจ้างเป็นหนังสือว่า “ ถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเป็นข้อปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา”  (คำพิพากษาฎีกาที่ 7047/2542 , 95/2543)

                อนึ่ง เหตุผลที่นายจ้างระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างนั้นต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจริง เป็นเหตุที่ใกล้ชิดกับการเลิกจ้าง และเป็นเหตุที่นายจ้างต้องเลิกจ้างกับลูกจ้าง(ถ้าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นมาแล้วนาน 2 ปี 3 ปี นายจ้างก็ทราบดี แต่ภายหลังนายจ้างเกิดไม่ชอบใจลูกจ้างในกรณีอื่น จึงเลิกจ้าง กรณีนี้ศาลอาจพิจารณาว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว นายจ้างทราบดีแต่มิได้ลงโทษลูกจ้างแต่อย่างใด ถือว่าเป็นเหตุที่นายจ้างได้ให้อภัยแก่ลูกจ้างนั้นแล้ว

กรณีนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

แหล่งอ้างอิง

  • คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ
  • เกษมสันติ วิลาวรรณ, การเลิกจ้างและการลาออก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2557).
  • เกษมสันติ วิลาวรรณ, ดำอธิบายกฎหมายแรงงาน (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2564)   
  • สุดาศิริ วศวงศ์, กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน (กรุงเทพฯ: นิติบรรณการ. 2548)    
  • กองนิติการ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน, คำพิพกยาศาล (26 พฤษภาคม 2563) กองนิติการ กรมสวัสดิการ 
  • คุ้มครองแรงงาน . Available at: คุ้มครองแรงงาน . (Accessed: 28 September 2023). 
  • ลักทรัพย์นายจ้าง. Available at: https://www.keybookme.com/law/employer-burglary/ (Accessed: 28 September 2023). 
  • รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่ฟ้อง คดียักยอกทรัพย์. Available at: https://www.lawyers.in.th/2020/08/25/ (Accessed: 28 September 2023). 
  • ความผิดฐานยักยอก. Available at: https://www.drthawip.com/criminalcode/1-55 (Accessed: 28 September 2023).