หมิ่นประมาททั่วไป
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมิ่นประมาททั่วไปคือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยการกระทำนั้นทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายโดยการเสียชื่อเสียง หรือถูกเกลียดชังต่างๆ ถือว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326
องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ประกอบด้วย
1. ผู้ใด
2. ใส่ความผู้อื่น
3. โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
4. ผู้กระทำต้องมีเจตนา กล่าวคือ เจตนาที่จะใส่ความ หรือเจตนาแสดงข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งพาดพิงไปถึงผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2537
โจทก์ร่วมซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ถูกร้องเรียนว่ายักยอกเงินโครงการอาหารกลางวันและอื่น ๆ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น จำเลยซึ่งรักษาการแทนโจทก์ร่วมทำหนังสือสั่งธนาคารระงับการจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ร่วม และได้พูดกับ พ.ผู้ช่วยสมุหบัญชีธนาคารว่า”ยักยอก ตามตัวไม่พบ” คำพูดดังกล่าวมีความหมายให้ พ.เข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการแล้วหนีไป จึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม
จำเลยมีเจตนากล่าวถ้อยคำโดยเจตนาใส่ความโจทก์ร่วมทั้งถ้อยคำดังกล่าวก็เป็นความเท็จเพราะจำเลยทราบดีว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมอยู่ในระหว่างถูกผู้บังคับบัญชาตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และได้สั่งให้โจทก์ร่วมไปช่วยราชการที่อื่น หาใช่ว่าคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จแล้วและลงความเห็นว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยและหลบหนีไปแต่อย่างใดไม่ การกล่าวถ้อยคำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต
จำเลยกระทำความผิดก่อนวันใช้บังคับของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไข ป.อ. มาตรา326 และมิได้เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้บังคับตาม ป.อ.มาตรา 326 เดิม
หมิ่นประมาทคนตาย
มาตรา 327 ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น
หมิ่นประมาทคนตาย คือ การใส่ความหรือใส่ร้ายต่อผู้ตายต่อบุคคลที่สามในลักษณะที่การใส่ความนั้นเป็นเหตุให้ บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ถือว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326
องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทคนตาย ประกอบด้วย
1. ใส่ร้ายผู้ตาย
2. ต่อบุคคลที่สาม
3. และข้อความนั้นต้องเป็นเหตุ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2531
จำเลยที่ 1 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า”พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก” ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงพรรค ป. และ ด. สามีโจทก์ ดังนี้จำเลยที่ 1 มีเจตนาใส่ความผู้ตายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารอันน่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อื่นได้ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน ถ้าจะรอการลงโทษไว้ย่อมจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้จำเลยที่ 1 ต้องระมัดระวังความประพฤติของตน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้เขียนแต่รับผิดในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาจำเลยทั้งสองไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป
หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คือ การหมิ่นประมาทกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปได้เห็นข้อความดังกล่าวนั้น
องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ประกอบด้วย
1. มีการใส่ความ
2. ผู้อื่น
3. ต่อบุคคลที่สาม(มาตรา 326)/ ต่อผู้ตาย(มาตรา 327)
4. การกระทำนั้น
– ผ่านสื่อที่ทำให้ปรากฏและเข้าใจความหมายได้โดยวิธีใด ๆ ก็ตาม
– เผยแพร่สู่คนจำนวนมาก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2499/2526
จำเลยนำข้อความไปลงในหนังสือพิมพ์รายวันว่า ‘ประกาศจับ ส. (โจทก์)ในข้อหาหรือฐานความผิดยักยอกทรัพย์ ผู้ใดพบเห็นหรือชี้แนะได้ให้นำส่งสถานีตำรวจ ช. (ผู้เสียหาย)’ และลงรูปโจทก์ไว้ข้างข้อความดังกล่าวโดยปรากฏว่าขณะจำเลยนำข้อความตามฟ้องและรูปโจทก์ไปลงโฆษณานั้น จำเลย ก็ทราบว่าโจทก์รับราชการมีที่อยู่ที่แน่นอน ซึ่งจำเลย อาจนำเจ้าพนักงานไปจับกุมโจทก์ตามหมายจับได้โดยง่ายไม่มีความจำเป็นต้องลงโฆษณาประกาศจับทางหนังสือพิมพ์และข้อความที่ลงโฆษณาย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง เรื่องที่จำเลยลงโฆษณาก็เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้พนักงานสอบสวนจะออกหมายจับโจทก์จริง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328
คำพิพากษาฎีกาที่ 3545 / 2558
จำเลยทั้งสองนำความเท็จใส่ร้ายโจทก์แถลงต่อผู้สื่อข่าว ย่อมเล็งเห็นผลว่าผู้สื่อข่าวต้องนำข้อความที่จำเลยทั้งสองแถลงไปเสนอข่าวทางหนังสือพิมพ์ การที่หนังสือพิมพ์เสนอข่าวตามที่จำเลยทั้งสองแถลง จึงเป็นการที่จำเลยทั้งสองใช้ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือในการหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 83 ไม่ใช่มาตรา 326
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใครหรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะและความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด
ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลังมิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ไม่ถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5276/2562
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาทเกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษายกฟ้องได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) และมาตรา 26 แต่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(3) การไต่สวนมูลฟ้องโดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคนเดียวในศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ เป็นเพียงการย้อนสำนวนมาให้ดำเนินกระบวนพิจารณาและทำคำพิพากษาใหม่ในส่วนที่ไม่ชอบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 31(1) ประกอบมาตรา 29(3) เมื่อการไต่สวนมูลฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคนเดียวในศาลชั้นต้นชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(3) ศาลชั้นต้นหาจำต้องไต่สวนมูลฟ้องใหม่อีกไม่ และเมื่อทนายโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า โจทก์หมดพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง การไต่สวนมูลฟ้องย่อมเสร็จสิ้นลงโดยชอบแล้ว โจทก์ไม่อาจนำพยานเข้าไต่สวนเพิ่มเติมได้อีก
คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลลงลายมอชื่อร่วมเป็นองค์คณะ เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 31(1) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลย่อมมีอำนาจตรวจสำนวนคดีและลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29(3) การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 ซึ่งมีระวางโทษเกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตรวจสำนวนคดีและลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะจึงเป็นการพิจารณาและพิพากษาใหม่โดยมีผู้พิพากษาครบองค์คณะโดยชอบ
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 ต้องเป็นการใส่ความระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่า บุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชน หรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชั่นไลน์ กลุ่มโพสต์นิวออนไลน์ มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328
*** ไม่ผิด หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328เพราะไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป แต่เผยแร่ในกลุ่มบุคคลเท่านั้น จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดา ตาม ป.อ. มาตรา 326 เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4291/2548
จำเลยที่ 1 ทำหนังสือร้องเรียนซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาท น. ยื่นต่อนายอำเภอคอนสารโดยเฉพาะเจาะจง ไม่เป็นการโฆษณาด้วยเอกสาร เพราะหนังสือร้องเรียนดังกล่าวยื่นต่อนายอำเภอคอนสารซึ่งเป็นบุคคลที่สามเพียงคนเดียวเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาใส่ความโดยโฆษณาให้บุคคลอื่นทั่วไปทราบนอกจากนายอำเภอคอนสาร จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
มาตรา 329 ไม่มี ความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรานี้ ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากเป็นเรื่องที่กล่าวโดยสุจริต คือ เพราะคิดว่าความคิดเห็นหรือข้อความหรือการสื่อความหมายนั้นถูกต้อง เป็นความจริงตามที่เข้าใจ การกระทำนั้นย่อมไม่ถือว่าเป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3269/2533
จำเลยและผู้เสียหายต่างทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดินแห่งเดียวกันการที่มีผู้ไปติดต่อขอรับมรดกที่ดินที่สำนักงานที่ดินดังกล่าวโดยได้ไปติดต่อกับผู้เสียหายก่อนแล้วจึงไปสอบถามจำเลยในลักษณะที่มีมูลทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายได้เรียกเอาเงินจากผู้ไปติดต่อ อันเป็นการมิชอบ จำเลยจึงแจ้งเรื่องให้ ศ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทั้งของตนและของผู้เสียหายทราบเพื่อจะได้ดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไปนั้น เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความที่ถูกกล่าวหาโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมจำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1459/2527
บรรยายฟ้องว่าจำเลยจงใจกล่าวข้อความลงในหนังสือถึงกองทัพอากาศมีข้อความว่า โจทก์ถูกปลดจากการเป็นพนักงานของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเพราะโจทก์เป็นบุคคลมีมลทินมัวหมองดังนี้ถือได้ว่าโจทก์ได้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์ซึ่งถ้อยคำ อันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว ปรากฏตามฟ้องของโจทก์และหนังสือที่โจทก์ส่งศาลว่าโจทก์ขอกลับเข้ารับราชการในกองทัพอากาศ กองทัพอากาศสอบถามไปยังการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยถึงเหตุที่โจทก์ถูกปลดจากการเป็นพนักงานของการท่าอากาศยานฯ จำเลยในฐานะ ผู้ว่าการการท่าอากาศยานฯจึงมีหนังสือตอบกองทัพอากาศว่าโจทก์ ถูกปลดเพราะมีมลทินมัวหมอง ดังนี้ การที่จำเลยมีหนังสือ ถึงกองทัพอากาศดังกล่าว มิใช่เป็นการโฆษณาด้วยเอกสารตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าโจทก์ถูกปลดเพราะถูกกล่าวหาว่าทำโจรกรรมทรัพย์สินของการท่าอากาศยานฯการที่จำเลยมีหนังสือถึงกองทัพอากาศดังกล่าวจึงเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตของเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเมื่อการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องไม่เป็นความผิดตามบทมาตราที่ขอให้ลงโทษแล้วศาลชอบที่จะยกฟ้องได้เลยโดยไม่จำต้องไต่สวน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6310/2539
จำเลยนำแถบบันทึกเสียงที่มีผู้สนทนากันกล่าวถึงผู้เสียหายทั้งสองมีพฤติกรรมในทางชู้สาวต่อกันที่โรงเรียนที่ผู้เสียหายทั้งสองสอนอยู่ไปเปิดให้นาย ส.ม.หัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอกับพวกฟังที่บ้านของนาย ส.ม.โดยเกิดจากการแนะนำของนาย ส.กับนายส.ม. และผู้ร่วมฟังแถบบันทึกเสียงก็เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาทั้งสิ้น ทั้งไม่ใช่เปิดในที่สาธารณสถานเป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะหากผู้เสียหายทั้งสองกระทำการในทางชู้สาวจริง นอกจากจะผิดต่อศีลธรรมแล้วยังผิดในทางวินัยข้าราชการอีกด้วย เนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองต่างรับราชการเป็นครูและต่างมีสามีและภรรยาแล้ว ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงไม่มีเจตนาที่จะใส่ความผู้เสียหายทั้งสองให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือเสียหาย แต่เป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำจำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6483/2531
การที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลายโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งจำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้องเพื่อให้โจทก์เข้าใจข้อหาได้ชัดเจนนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331 ส่วนที่จำเลยนำข้อความเกี่ยวกับการฟ้องโจทก์เป็นบุคคลล้มละลายไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์นั้นเมื่อข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์เป็นข้อความที่ตรงกับที่จำเลยฟ้องโจทก์ มิได้มีข้อความอื่นนอกเหนือไปจากนั้น อันจะส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลย การที่หนังสือพิมพ์เสนอข้อความดังกล่าวจึงเป็นการรายงานเรื่องที่โจทก์ถูกฟ้องต่อศาลเป็นคดีล้มละลายถือได้ว่าจำเลยได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลจำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(4)จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2531
ข้อความที่กล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ต้องพิเคราะห์ถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทน่าจะเสียชื่อเสียงถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเกลียดชังหรือไม่ไม่ใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียวการที่จำเลยเบิกความเป็นพยานไปตามที่ทนายความซักถามว่า โจทก์ไม่ค่อยทำหน้าที่ ธนาคารได้ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ 10 เปอร์เซ็นต์ ฐานไม่ค่อยมาทำงานซึ่งโจทก์ก็รับว่าเป็นความจริงเพียงแต่เลี่ยงไปว่าถูกลงโทษฐานออกไปนอกสถานที่นั้นจำเลยมีเจตนาจะให้ความจริงต่อศาลในการพิจารณาคดีมิได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งใส่ความโจทก์ให้ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังแต่อย่างใดส่วนที่จำเลยเบิกความว่าโจทก์เป็นหัวหน้าแผนกประจำกองหรือหัวหน้าแผนกประจำธนาคารวิญญูชนทั่วไป ได้ยินได้ฟังแล้วหามีความเข้าใจในข้อแตกต่าง ของความหมายแห่งถ้อยคำของตำแหน่งหน้าที่ทั้งสองไม่ ผู้ได้ยินได้ฟังก็ไม่ถือหรือเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนไม่ดีอันเป็นการใส่ความ คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556
จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่ายและกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาลโจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัดไม่มีความละอายต่อบาปและเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2559
การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำแม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11119/2558
การที่จำเลยทั้งสามมิได้ยกข้อต่อสู้ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำนั้นเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด ก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีไปตามนั้นและพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558
ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคมและข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่1นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความหาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10034/2555
การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม ออกแถลงการณ์เป็นหนังสือแจกจ่ายแก่ประชาชนว่า โจทก์ร่วมปลอมประกาศนียบัตรผ่านการอบรมงานด้านคอมพิวเตอร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม และนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ในการสมัครเป็นพนักงานส่วนตำบลที่จังหวัดราชบุรี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียมไม่เคยฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่โจทก์ร่วมและการที่จำเลยประกาศด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงให้ประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแม้ข้อความนั้นจะมีลักษณะน่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่การกระทำของจำเลยมีเหตุให้เชื่อตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนที่มีความเห็นเชื่อว่าโจทก์ร่วมทำปลอมประกาศนียบัตร จึงถือได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)
มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้
มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
มาตรา 331 คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 332 ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
(1) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท
(2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2536
จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนโจทก์ออกจากเป็นผู้อนุบาลของ จ. ผู้ไร้ความสามารถ และตั้งจำเลยเป็นผู้อนุบาลแทนโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์เล่นการพนันไม่เหมาะที่จะเป็นผู้อนุบาลของ จ. คดีดังกล่าวจึงมีข้อที่จะต้องพิจารณาว่าโจทก์หรือจำเลยควรเป็นผู้อนุบาลของ จ. ดังนั้น การที่จำเลยเบิกความว่าข้านของโจทก์ตั้งเป็นบ่อนการพนัน ก็เพื่อสนับสนุนคดีของจำเลยว่าโจทก์ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาล ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331
ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นความผิดที่ยอมความกันได้
มาตรา 333 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่ วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดย อัตโนมัติ
“ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด บรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทาง อิเล็กทรอนิกส์ด้วย
“ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลา ชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น
“ผู้ให้บริการ” หมายความว่า
(1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
(2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
“ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด 1
ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
มาตรา 5 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกัน การเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 6 ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้น เป็นการเฉพาะ ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 4 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึง โดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 8 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อ ดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบ คอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคล ทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 9 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 10 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 11 ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น โดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา 12 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10
(1) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้น พร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
(2) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบ คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อ ประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตาม (2) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 13 ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็น เครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14
มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิดความ ผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
มาตรา 17 ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ
(1) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
(2) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร
หมวด 2
พนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 18 ภายใต้บังคับมาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวน ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด และหาตัวผู้กระทำความผิด
(1) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราช บัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้
(2) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร ผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
(3) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๖ หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้า หน้าที่
(4) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราช บัญญัตินี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้า หน้าที่
(5) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(6) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้
(7) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว
(8) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบราย ละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 19 การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7) และ (8) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่าง หนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุที่ต้องใช้อำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและผู้กระทำความผิด เท่าที่สามารถจะระบุได้ประกอบคำร้องด้วย ในการพิจารณาคำร้องให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยเร็วเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดำเนินการตามคำสั่งของศาล
ให้พนักงานเจ้า หน้าที่ส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7) และ (8) มอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสำเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าในการดำเนินการตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7) และ (8) ส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการ ให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ เพื่อเป็นหลักฐาน
การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 18 (4) ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราช บัญญัตินี้ และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น
การยึดหรืออายัดตามมาตรา 18 (8) นอกจากจะต้องส่งมอบสำเนาหนังสือแสดงการยึดหรืออายัดมอบให้เจ้าของหรือผู้ ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องยึดหรืออายัด ไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอขยายเวลายึดหรืออายัดได้ แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบ วัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลันหนังสือแสดงการยึดหรืออายัดตามวรรคห้าให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 20 ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่ กำหนดไว้ในภาคสอง ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดง พยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับ การทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ ได้
มาตรา 21 ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดมีชุดคำสั่ง ไม่พึงประสงค์รวมอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้มีคำสั่งห้าม จำหน่ายหรือเผยแพร่ หรือสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นระงับการใช้ ทำลาย หรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ มีไว้ในครอบครอง หรือเผยแพร่ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ดังกล่าวก็ได้
ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ตามวรรคหนึ่งหมายถึงชุดคำสั่งที่มีผลทำให้ข้อมูล คอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือชุดคำสั่งอื่นเกิดความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม ขัดข้อง หรือปฏิบัติงานไม่ตรงตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือโดยประการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นชุดคำสั่งที่มุ่งหมายในการป้องกันหรือแก้ไขชุดคำสั่งดังกล่าว ข้างต้น ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 22 ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา 18 ให้แก่บุคคลใด
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจ หน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งหรือที่ได้รับอนุญาตจากศาล พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 23 พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูล คอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 24 ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อ ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 25 ข้อมูล ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญาหรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยานได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น
มาตรา 26 ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่า เก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่ง ให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้
ผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการนับตั้งแต่เริ่มใช้บริการและต้องเก็บรักษาไว้เป็น เวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับตั้งแต่การใช้บริการสิ้นสุดลง
ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด อย่างไร และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา 27 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินสองแสนบาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา 28 การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 29 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มีอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษ และมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
ในการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ บรรดาที่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานงาน กับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐมนตรี
มีอำนาจร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการตามวรรคสอง
มาตรา 30 ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัว ต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องบัตรประจำตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา
แหล่งอ้าง
- ความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดฐานดูหมิ่น. Available at: https://web2016.hrdi.or.th/InternalRules/Detail/1468 (Accessed: 19 November 2023).
- บทความอาจารย์สุภาภรณ์.htm. Available at: https://www.stou.ac.th/thai/schools/sca/document (Accessed: 19 November 2023).
- หมิ่นประมาทผู้ตาย. Available at: http://ofs101.ldd.go.th/LDDOFS/ofskm03/03/0303/2565/030325650033.pdf? (Accessed: 19 November 2023).
- สืบค้นฎีกา. Available at: http://deka.supremecourt.or.th/ (Accessed: 19 November 2023).