ฉ้อโกง คืออะไร
การฉ้อโกง หมายถึง การหลอกคนอื่นโดยแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดความจริงที่ควรบอกเพื่อเอาทรัพย์สินคนอื่นหรือทำให้คนอื่นทำ ถอน ทำลาย เอกสารสิทธิ
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หลอกลวง หมายความถึง ใช้เล่ห์อุบายลวงให้เข้าใจผิด, ต้มตุ๋น
แสดงข้อความอันเป็นเท็จ หมายความถึง มีข้อเท็จจริงอยู่แล้ว นำมาเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงนั้นแต่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่มีอยู่ นั้นถือว่าเป็นข้อความเท็จ
ทรัพย์สิน หมายความถึง วัตถุทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นวัตถุมีรูปร่าง ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เป็นวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งแบ่งประเภทเป็น อสังหาริมทรัพย์–สังหาริมทรัพย์
การกระทำที่เป็นความผิดที่เป็นการหลอกลวง คือ การกระทำให้เข้าใจผิดหรือหลงผิด สำคัญผิด ซึ่งอาจจะกระทำโดย การแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
องค์ประกอบความผิด ของการฉ้อโกง
องค์ประกอบ ภายนอก ได้แก่
ผู้กระทำ : ผู้ใด
กรรม : ผู้อื่น
ผลของการกระทำ : ทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อและมีการโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งทรัพย์สิน โดย
1.ผู้กระทำได้นำทรัพย์สินไป หรือ 2.มีการทำ ถอน ทำลายเอกสารสิทธิ
องค์ประกอบภายใน
1. เจตนาธรรมดา ตามมาตรา 59 คือ การกระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยสำนึกในการกระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
2.เจตนาพิเศษ โดยทุจริต คือ ทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2485
ใช้อุบายหลอกลวงทำสัญญาเช่าซื้อจักร แล้วนำไปจำนำเสียในวันเดียวกันนั้นเอง เป็นผิดฐานฉ้อโกง เพราะแสดงว่ามีเจตนาทุจริตมาแต่แรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 707/2516
ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกงไว้แล้ว ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยด้วยเรื่องเดียวกันนั้นเป็นคดีใหม่ ผู้เสียหายจึงถอนฟ้องคดีที่ผู้เสียหายได้ฟ้องไว้แล้วขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่พนักงานอัยการฟ้อง เห็นได้ว่าการที่ผู้เสียหายถอนฟ้องดังกล่าวก็เพื่อจะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยนั่นเอง มิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 พนักงานอัยการจึงยังมีอำนาจฟ้องจำเลยและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของผู้เสียหายจึงไม่ระงับไป จึงมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
จำเลยเอาเงินของผู้เสียหายไป อ้างว่าเพื่อนำไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจและจะให้ผลประโยชน์แก่ผู้เสียหาย เป็นเรื่องที่จำเลยยืมเงินไปโดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินนั้นเพื่อกิจการของจำเลยเองในโอกาสข้างหน้า มิได้เอาความเท็จมากล่าวหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งมีอยู่แล้วในขณะนั้น แม้จำเลยไม่เอาเงินนั้นไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ ก็เป็นเรื่องผิดคำมั่นสัญญาเท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2283/2565
โจทก์ทั้งสิบสองซื้อบ้านและที่ดิน โครงการหมู่บ้าน ศ. 1 โดยจำเลยทั้งสองและ จ. ปกปิดข้อความจริงว่า โครงการหมู่บ้าน ศ. 1 ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรตามกฎหมายและ จ. แจ้งว่าโครงการจัดให้มีลานจอดรถอันเป็นสาธารณูปโภค โจทก์ทั้งสิบสองชำระเงินครบถ้วนและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านแล้ว ดังนั้น เงินค่าซื้อที่ดินและบ้านที่จำเลยทั้งสองได้รับจากโจทก์ทั้งสิบสอง จึงเกิดจากการซื้อขายที่ดินและบ้าน มิใช่เกิดจากการปกปิดข้อความจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดิน ทั้งการที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ขออนุญาตจากทางราชการให้ดำเนินการจัดสรรที่ดิน ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะฉ้อโกงโจทก์ทั้งสิบสอง และที่จำเลยทั้งสองไปขออนุญาตก่อสร้างอาคารบนที่ดินที่ จ. จัดให้เป็นลานจอดรถโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสิบสองทราบนั้น มิใช่การปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเพราะจำเลยทั้งสองไม่จำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทั้งสิบสองทราบ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ทั้งสิบสองเพราะที่ดินเป็นลานจอดรถยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. ส่วนการที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารเจ็ดชั้นบนที่ดินสาธารณูปโภคที่เป็นลานจอดรถ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามคำมั่นของ จ. ที่ให้ไว้กับโจทก์ทั้งสิบสองเท่านั้น กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2566
โจทก์ร่วมหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แม้ผู้รับโอนจะไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้หลอกลวง แต่การที่ ฐ. ได้ไปซึ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วม จึงเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ใช่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก ฐ. จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของโจทก์ร่วมให้แก่โจทก์ร่วม หากจำเลยที่ 1 คืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นของโจทก์ร่วมไม่ได้ จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ร่วม
ฉ้อโกงประชาชน คืออะไร
การฉ้อโกงประชาชนไม่ได้ดูที่จำนวนคนที่ถูกโกงแต่ดูที่เจตนา ถ้าการหลอกลวงทำไปด้วยการแสดงข้อความเท็จ หรือปิดบังความจริงที่ควรบอกให้รู้ และต้องการให้คนทั่วไปทุกคนเชื่อแบบไม่เฉพาะเจาะจงคน จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
คดีฉ้อโกงประชาชนติดคุกกี่ปี?
มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน “ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ“
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วยผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
***การกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนนั้น เราจะต้องพิจารณา เจตนา ของผู้กระทำความผิดว่าประสงค์จะหลอกลวงผู้ใดเป็นสำคัญอีกด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1867/2523
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้น หาได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมากหรือน้อยเป็นหลักไม่แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2561
การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปมาทำการกู้ยืมเงินกันโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนคือการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วๆไปไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆจึงไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไปเพียงแต่จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองกับพวกก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 และ พ. หรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2564
ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติให้เป็นเหตุให้ต้องรับโทษหนักขึ้นไว้ในมาตรา 343 วรรคสอง นั้น เป็นการลำดับการลงโทษเป็นชั้น ๆ ไปตามลักษณะฉกรรจ์ของความผิดที่กระทำ มิใช่กระทำความผิดหลายบทตามมาตรา 90 แต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำความผิดบทฉกรรจ์บทเดียว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 47/2566
การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำความผิดประสงค์ต่อผลในการหลอกลวงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง เมื่อคดีนี้ไม่มีการสืบพยานจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชนทั่วไปทางแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะชักชวนบุคคลทั่วไปให้นำเงินมาลงทุนกับจำเลยและพวก และหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินจำนวนมากเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้จำเลยหลายครั้งตามวันเวลาที่โจทก์แยกบรรยายฟ้อง ซึ่งในแต่ละข้อที่โจทก์แยกบรรยายมานั้นมีข้อความทำนองเดียวกันว่า ผู้เสียหายหลงเชื่อจากการหลอกลวงของจำเลยกับพวกดังกล่าว และโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยกับพวก แม้การโอนเงินของผู้เสียหายดังกล่าวจะกระทำหลายคราว แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลัง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก ซึ่งไม่ปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ จึงต้องฟังว่าจำเลยกับพวกหลอกลวงผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวโดยมีเจตนาเดียวเพื่อให้ได้เงินจากผู้เสียหาย ถึงจะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน
ฉ้อโกงโดยแแสดงตนเป็นคนอื่นหรืออาศัยความเบาปัญญาหรือความอ่อนแอของจิต
ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น หรือ อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง มีโทษตาม มาตรา 342 คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การแสดงตนเป็นคนอื่น นั้น ต้องเป็นการแสดงว่าตนเองเป็นบุคคลอื่น แม้จะไม่มีตัวตนอยู่จริง ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้
อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก ความหมายคือ ความเบาปัญญา คือ การหย่อนความคิด หย่อนสติปัญญา หรือรู้ไม่เท่าทัน เนื่องจากเด็กคงมีวุฒิภาวะไม่เท่าผู้ใหญ่ กฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองเหตุดังกล่าว
ฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง คือ บุคคลที่มีความนึกคิดอ่อนแอไม่เข้มแข็ง หรือป่วยทางจิต ซึ่งอาจถูกหลอกลวงได้ง่าย
มาตรา 342 ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2546
การที่จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ระบุชื่อ ส. และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของส. ซึ่งเลอะเลือนมองเห็นไม่ชัดเจนมาแสดงต่อผู้เสียหายเพื่อขอกู้ยืมเงิน ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยคือ ส. เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 ก. ที่แท้จริง จึงตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้น เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้อื่นโดยการแสดงตนเป็นคนอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342(1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2526
โจทก์นอกจากจะได้กล่าวในฟ้องในตอนต้นและตอนท้ายว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์อาศัยความโง่เขลาเบาปัญญาและความอ่อนแอแห่งจิตของโจทก์แล้ว โจทก์ยังบรรยายข้อความที่จำเลยหลอกลวงโจทก์อีกว่า เหล็กไหลสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่โจทก์กำลังเป็นอยู่นั้นให้หายขาดได้ ซึ่งพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า ความอ่อนแอแห่งจิตของโจทก์เนื่องมาจากความเจ็บป่วย และคำว่าโง่เขลาเบาปัญญาก็แสดงอยู่ว่าโจทก์นั้นถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อได้ง่ายกว่าคนมีจิตปกติ ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (2) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว
ฉ้อโกงแรงงาน
มาตรา 344 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปให้ประกอบการงานอย่างใด ๆ ให้แก่ตนหรือให้แก่บุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ“
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1051/2510
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผล คือ การทำงานของผู้ที่ถูกหลอกให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน ฯลฯ
เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยหลอกเพื่อให้ส่งเงินเท่านั้น ไม่ได้หลอกให้ทำงานเพราะไม่มีงานให้ทำ จึงไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตามมาตรา 344 จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2506
ความผิดฐานฉ้อโกงค่าจ้างแรงงานตามประมวลกฎมายอาญามาตรา 344 นั้นจะต้องได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายในขณะที่ตกลงจะให้ผู้เสียหายประกอบการงานให้แก่ตนโดยเจตนาจะไม่ใช่ค่าแรงงาน หรือค่าจ้างหรือจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลง จึงจะเป็นความผิดได้ ถ้าหากไม่ได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเช่นนั้นในขณะที่จะตกลงกัน แต่เป็นเรื่องตกลงกันมาแล้ว จึงมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นแก่จำเลย ทำให้จำเลยไม่อาจใช้ค่าแรงงานหรอืค่าจ้างได้ตามที่ตกลงกันไว้ ก็เป็นเพียงการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น จะปรับบทเป็นความผิดทางอาญาหาได้ไม่
ฉ้อโกงบริการ
มาตรา 345 ผู้ใดสั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือเข้าอยู่ในโรงแรม โดยรู้ว่าตนไม่สามารถชำระเงินค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าอยู่ในโรงแรมนั้น “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ“
ข้อพิจารณา
– ผู้กระทำความผิดฐานนี้ต้องมีเจตนาที่จะไม่จ่ายเงินตั้งแต่แรก
– การสั่งซื้อหรือบริโภคเป็นการกระทำต่อเนื่องในเวลานั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1686/2505
มาตรา 345 เป็นเรื่องการสั่งซื้อและบริโภคอาหารด้วยและเป็นการกระทำต่อเนื่องในเวลานั้น การที่ไปติดต่อตกลงสั่งอาหารล่วงหน้าหลายวัน โดยให้นำอาหาร ไปเลี้ยงในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อไม่ชำระก็เป็นผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่ผิดตามมาตรานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2511
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 345 หมายความว่า การสั่งซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มมาบริโภคนั้น เป็นที่เข้าใจกันว่าจะชำระราคาให้เมื่อได้บริโภคเสร็จแล้วในเวลาและในสถานการค้าของผู้ขาย จำเลยให้คนไปเอาสุราที่ร้านผู้เสียหาย โดยให้บอกแก่ผู้เสียหายว่า จะนำเงินไปชำระให้ภายหลัง แล้วในวันรุ่งขึ้นได้ให้คนไปเอามาอีกซึ่งผู้เสียหายก็ยอมมอบให้มา เช่นนี้ เป็นเรื่องผู้เสียหายตกลงให้จำเลยซื้อของเชื่อ กรณีไม่เข้าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 345
ฉ้อโกงให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยเสียเปรียบ
มาตรา 346 ผู้ใดเพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสาระสำคัญแห่งการกระทำของตน จนผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น ต้องระวาง “โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ“
ข้อพิจารณา
– ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดหลอกลวง แค่ชักจูงจนผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้นก็ถือว่าเป็นความผิด
ฉ้อโกงวินาศภัย
มาตรา 347 ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แหล่งอ้างอิง
- สถาบันนิติธรรมาลัย. Available at: https://www.drthawip.com/criminalcode/1-53 (Accessed: 14 October 2023).
- ความผิดฐานฉ้อโกง. Available at: chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkajhttps://lib.doe.go.th/ebookdoc/020400002770_2.pdf (Accessed: 14 October 2023).
- ข้อความเท็จ หลอกลวง. Available at: https://dict.longdo.com/search/ (Accessed: 14 October 2023).
- ทรัพย์สิน. Available at: https://th.wikipedia.org/ (Accessed: 14 October 2023)
- สืบค้นฏีกา. Available at: http://deka.supremecourt.or.th/search/index (Accessed: 14 October 2023)
- การฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นหรืออาศัยความเบาปัญญา. Available at: https://www.xn--12ca3b1bb4cded8fvcua6a5l.com/2018/08/blog-post_15.html (Accessed: 23 October 2023).
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554