,

มีแค่สลิปโอนเงิน ฟ้องลูกหนี้ได้มั้ย?

มีแค่สลิปโอนเงิน ฟ้องลูกหนี้ได้มั้ย

ฟ้องลูกหนี้ มีแค่สลิปโอนเงินฟ้องได้ไหม ปัจจุบันมีเทคโนโลยีดิจิทัลทางการเงินที่เรียกว่า “โมบายแบงค์กิ้ง (Mobile Banking) ” ที่ทำให้การโอนเงินเข้าออกบัญชี ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าสินค้า รับเงินด้วย QR code เติมเงิน e-Wallet หรือเติมเงินโทรศัพท์มือถือ เกม หรือ รวมถึงบริการอื่น ๆ เช่น การเปิดบัญชี, ลงทุน ที่สะดวกและง่ายขึ้น (ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย)

นอกจากนี้ในกรณีที่มีการให้กู้ยืมเงิน คนก็มักจะใช้การโอนเงินให้แก่คนที่มากู้ยืม เนื่องจากมีข้อมูลชัดเจนว่าโอนถึงใคร ชื่อบัญชีอะไร วันและเวลาในการทำการโอนเงินเข้าบัญชี เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้กู้ยืมแล้ว อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีจำนวนเงินในการกู้ยืมมากกว่า 2,000 บาทขึ้นไป กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานของการกู้ยืมเงิน จึงจะฟ้องร้องคดีกันได้ 

ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วางหลักสำคัญของการฟ้องร้องผู้กู้ไว้ว่า “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” 

คำว่า “หลักฐานแห่งการกู้ยืม” นั้น จะต้องมีข้อความที่เข้าใจชัดเจนว่า 

  • ผู้กู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ หรือ มีสาระสำคัญที่ทำให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีข้อความระบุว่า “เป็นหนี้กู้ยืม” แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีข้อความว่ารับเงินแล้วและจะมีการใช้คืน หรือ ข้อความอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้กู้มีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่ผู้ให้กู้ยืม หากไม่มีความทำนองนี้ จะไม่ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้

อย่างไรก็ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืม นั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นขณะที่ทำสัญญากัน อาจจะทำขึ้นภายหลังทำสัญญากู้ก็ได้ และไม่ต้องอยู่ในรูปแบบของสัญญากู้ยืม แต่ต้องมีขึ้นก่อนดำเนินการการฟ้องคดี 

คำพิพากษาศาลฎีกาประกอบ

มีแค่สลิปโอนเงิน ฟ้องลูกหนี้ได้มั้ย (1)

อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4306/2565 หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มี หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่นั้น 

จากหลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีโจทก์แล้วโอนเข้าบัญชีจำเลยนั้น ไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าเงินที่โจทก์โอนเข้าบัญชีจำเลยเป็นเงินที่จำเลยได้ยืมไปจากโจทก์ หรือเป็นหนี้โจทก์แล้วจะใช้คืนให้ในภายหลังแต่อย่างใด 

ดังนั้น เอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างจึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมมาแสดงต่อศาล โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง 

ซึ่งหลักฐานแห่งการกู้ยืมดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และไม่ให้ศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเบิกความเพื่อให้ศาลรับฟังว่าการโอนเงินเข้าบัญชี โจทก์ดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินกันได้

ในส่วนของการลงลายมือชื่อของผู้กู้ กฎหมายบังคับเพียงว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืม ต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ หมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีชื่อหรือลายมือชื่อคนให้กู้ 

กล่าวคือ แม้ว่าจะไม่มีชื่อหรือลายมือชื่อ หรือลายมือชื่อคนให้กู้เป็นลายมือชื่อปลอม ก็ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมแล้ว 

ส่วนกรณีที่ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืม เช่น

  • ในเอกสารมีข้อความว่าเป็นหนี้เฉย ๆ แต่ไม่ได้มีการระบุจำนวนหนี้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2553/2525
  • ผู้กู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค แต่ไม่ได้เขียนข้อความที่บ่งบอกได้ว่ามีการกู้ยืม ไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้  (คำพิพากษาฎีกาที่ 6658/2548) 

ดังนั้น สลิปโอนเงิน ที่มีเพียงข้อมูลว่าโอนเข้าชื่อบัญชีใคร จำนวนเงิน วันและเวลาในการทำการโอน และไม่ปรากฏรายละเอียดอื่นใดอีก จึงไม่อาจถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ 

กล่าวคือ การที่จะโอนเงินเข้าบัญชีใคร ไม่จำเป็นหรือไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่า เงินนั้นจะเป็นเงินที่ให้บุคคลผู้ได้รับโอนได้รับเนื่องจากไปกู้ยืมเงินผู้โอนเงินมา ซึ่งอาจจะโอนเงินให้เพื่อไปใช้ทำอย่างอื่นก็เป็นได้   

ประเด็นเสริม

และหากปรากฏว่า โอนเงินให้ไปทำในกิจการอย่างอื่นที่ไม่ใช่การกู้ยืม และการนั้นเพื่อใช้เป็นกระโยชน์ของผู้โอนเงินให้เอง ก็จะถือว่าไม่ใช่การกู้ยืมเงินเลยแต่อย่างใด 

เช่น การมอบเงินให้เพื่อทำธุรกิจร่วมกัน มีตัวอย่างที่ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องเป็นเรื่องที่จำเลยรับเงินไปจากโจทก์โดยจำเลยในนามตัวแทนของโจทก์ตกลงจะไปซื้อสินค้ามาส่งให้โจทก์ หาใช่จำเลยตกลงจะนำเงินมาใช้คืนโจทก์ไม่ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 แต่เป็นกรณีที่ตัวแทนออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน (คำพิพากษาฎีกาที่ 6934/2543)

มีแค่สลิปโอนเงิน ฟ้องลูกหนี้ได้มั้ย

สำนักงานทนายความสรศักย์ ที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำในไทย พร้อมให้คำปรึกษาและการสนับสนุนทางกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบเพื่อการแก้ไขข้อพิพาทและการดำเนินการต่างๆ ถูกต้องและได้ผลลัพธ์อย่างดีที่สุด ติดต่อที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท สำนักงานกฎหมายสรศักย์และที่ปรึกษาสากล จำกัด 49/78 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700 หรือ 

โทร: 081-692-2428, 094-879-5865

Facebook: บริษัท สำนักงานกฎหมายสรศักย์และที่ปรึกษาสากล จำกัด

Line: Sorasak

 

จิดาภา พันธ์สระคู